วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย


การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

นายแพทย์บวร งามศิริอุดม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวไว้ว่า" เชื่อว่าคุณแม่คุณพ่อแทบทุกคนในปัจจุบัน ต้องรู้จักนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่ชื่อว่า ไอน์ส-ไตน์ ไอน์สไตน์ มีความฉลาดทางปัญญา ( IQ) ประมาณ 180 ขณะที่คนทั่วไปมีไอคิวประมาณ 90-110 เท่านั้น เขาได้ให้ข้อคิดที่สำคัญไว้ว่า ถ้าอยากจะให้ลูกฉลาด คุณแม่คุณพ่อควรจะเล่า นิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ และถ้าจะให้ลูกฉลาดมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรรู้ไหมครับ ไอน์สไตน์บอกว่า ต้องเล่า นิ ทานให้ลูกฟังหลายๆ เรื่อง คิดว่าคนที่ฉลาดเช่นนี้ พูดไว้แบบนี้ เราคงต้องเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ "
นิทานคือ โลกของภาษา ภาพและหนังสือที่ปรากฏบนหนังสือนิทาน คือโลกของภาษา การอ่านหนังสือให้ลูกฟังจึงมีความสำคัญมาก ต่อการพัฒนาของเด็ก เปรียบเหมือนอาหารมื้อหนึ่งของวัน เพราะเป็นอาหารสมองและอาหารใจของลูก พ่อแม่ทุกคนอยากให้เด็กรักการอ่านหนังสือ และเรียนเก่ง การทำให้เด็กรักการอ่านหนังสือไม่ยากเพราะเด็ก มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสนุกสนาน ถ้าได้หนังสือที่ชอบและยากอ่าน
นิทานสำหรับเด็กปฐมวัยควรเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งหมายถึงหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่าน การเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยเสียงตนเอง ใช้ภาษาที่ดี เวลาเล่า ความรู้สึกของผู้เล่าจะผ่านไปสู่ตัวลูกด้วย ถ้าผู้เล่านิทานรู้สึกตื่นเต้น ลูกก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย ความรู้สึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่และเด็กระหว่างการเล่านิทาน จึงเปรียบเสมือนสายใยผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก การเล่านิทานแม้เพียง 5 - 10 นาทีต่อเล่ม แต่ผลที่มีต่อลูกและความสุขในครอบครัวนั้นมหาศาล ลูกจะได้รับการพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สร้างจินตนาการแก่เด็ก ฝึกสมาธิให้เด็กรู้จักสำรวจจให้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นพื้นฐานการเตรียมความพร้อม ด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมกัน

นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย
ความเหมาะสมของนิทานสำหรับเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องคำนึงถึงความสนใจ การรับรู้และความสามารถตามวัยของเด็ก เป็นสำคัญ จึงยังเกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะเริ่มรับรู้นิทาน จากภาพที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน โดยรู้ความหมายไปทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถเชื่อมโยงภาพ และคำบอกเล่าที่ได้ยิน ตลอดจนจดจำเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆ ที่นำไปสู่การอ่านตัวหนังสือได้อย่างมีความหมายต่อไป

ภาพกิจกรรมภาษาสำหรับเด็ก



ภาษาเสริมความคิดสร้างสรรค์

มาช่วยกันเสริมสร้าง “ความคิดสร้างสรรค์” ให้เด็กไทยกันดีกว่า


โดย วิวรรณ สารกิจปรีชา

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน พ่อแม่ทุกคนมีความปรารถนาให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีอนาคตที่ดี มั่นคง แต่เศรษฐกิจของโลกและของประเทศต่างๆ ขึ้นลงไม่แน่นอนอยู่เป็นนิจ การทำงานใดๆ ในอนาคตจะต้องแข่งขันกันมากขึ้น แล้วอะไรที่จะช่วยลูกเราให้เดินไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ดีที่สุดหนอ? แน่นอนทักษะต่างๆในการทำงาน ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร ความสามารถในการเรียนรู้ ย่อมต้องถูกฟูมฟักให้ลูกๆของเราทุกคน แต่สิ่งที่จะทำให้ลูกของเราแตกต่างและโดดเด่น น่าจะเป็นในด้านความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ถ้าเป็นพ่อค้าความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องตา ต้องใจได้ดีมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้ วิธีการขายจูงใจมากขึ้น ถ้าเป็นครูความคิดสร้างสรรค์จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กสนุก แปลกใหม่ และเด็กๆเรียนรู้ได้ดีขึ้น ถ้าเป็นเกษตรกรความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้สามารถเพิ่มผลผลิต และการขายผลิตผลจะดลใจผู้ซื้อมากขึ้น หรืออาจจะนำส่วนเหลือของผลิตผลหลักไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้มากขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กตั้งแต่ยังเล็ก แต่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนมักจะอ้างว่าไม่มีเพียงพอ ทั้งๆที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ในทุกๆคน ปัจจัยที่ทำให้คนไทยหลายคนคิดว่าตัวเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์พอ ก็คือ วิธีการเลี้ยงดูและการศึกษาแบบไทยๆ เด็กดีของผู้ใหญ่ในประเทศไทย คือเด็กที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็กที่ว่าง่าย และทำตามที่ผู้ใหญ่วางกรอบไว้ให้ เด็กที่ยกมือถามครูบ่อยๆ มักจะถูกครูตัดบทบาท เด็กที่ทำอะไรผิดไปจากสิ่งที่ครูให้ทำตามปกติถูกกล่าวหาว่าทำผิดหรือทำอะไรแผลงๆ เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในกรอบของคุณธรรม แต่ต้องไม่สกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่สกัดกั้นเสรีภาพที่จะคิด พูด ถามคำถาม ออกความเห็น และได้ลงมือทำในสิ่งที่ตนคิดไปเสียหมด

เด็กเล็กก่อนวัยเรียน มีความคิดสร้างสรรค์ติดตัวมาอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพของแต่ละคน Howard Gardner ได้กล่าวเมื่อมาเยือนประเทศไทยให้บรรดาครูฟังว่าเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในช่วงก่อนวัยเรียนเด็กๆได้รับการสนับสนุนให้มีความคิดที่แตกต่าง เล่นอย่างเสรี และไม่ถูกสกัดกั้นที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป แต่เมื่อเด็กเติบโตและอยู่ในช่วงวัยเรียน เด็กๆถูกจำกัดในด้านการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กๆจะเข้าใจและจำในสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกได้ว่าอย่างไหนถูกต้อง และทำอะไรอย่างไหนผิด ถ้าเมื่อใดปัญหาที่เกิดขึ้นมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว และกฎระเบียบทำให้การปฏิบัติตนของเด็กต้องดำเนินไปเหมือนกันหมด ความคิดสร้างสรรค์ก็จะถูกผลักห่างออกไป ดังนั้นผู้ใหญ่ควรตระหนักว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ดีในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์เท่านั้น มีวิจัยหลากหลายที่สรุปได้ว่าบรรยากาศที่ไม่มีกฎระเบียบมากเกินไป และบรรยากาศที่ยอมรับและยกย่องเสรีภาพจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมาก

สำหรับเด็กเล็กแล้ว การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ควรมุ่งไปที่กระบวนการมากกว่าผลิตผลหรือตัวบุคคล เช่น การพัฒนาส่งเสริมความคิดที่แปลกใหม่ เป็นต้น ผู้ใหญ่ควรคิดแยกแยะความคิดสร้างสรรค์ออกจากความฉลาดและความสามารถพิเศษ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาดมาก และความคิดสร้างสรรค์ไม่มีปรากฏให้เห็นเฉพาะในดนตรี ศิลปะ หรือผลงานการเขียนเท่านั้น แต่ความคิดสร้างสรรค์มีปรากฏให้เห็นได้ในทุกวิชาที่มีกำหนดในหลักสูตร ทั้งในวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และอื่นๆ ในเด็กเล็กๆการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ควรเริ่มจากการส่งเสริมความคิดที่หลากหลาย และการแสดงออกตามความคิดต่างๆเหล่านั้นหลายวิธีเด็กๆควรได้รับการส่งเสริมให้ประเมินตนเองมากกว่าที่จะถูกประเมินโดยผู้อื่น เด็กๆควรรับรู้ว่า การแก้ปัญหาใดก็ตามไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว เด็กๆควรได้รับการส่งเสริมให้สำรวจออกความเห็น ทดลองและแก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลายด้วยตัวเด็กเอง บรรยากาศที่เด็กไม่กลัวว่าคำตอบของตนอาจจะผิด จะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

การให้รางวัลเพื่อจูงใจเด็กๆมักจะมีผลลบกับการคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการกำหนดกฎเกณฑ์ผิด-ถูกกับเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่ต้องรับรู้ว่าเด็กต้องการการยอมรับคำตอบและ หรือความคิดเห็นที่เด็กเสนอ จากบุคคลรอบข้างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งเด็กๆต้องได้รับโอกาสที่จะทดลองตามความคิดของตัวเองด้วย

การให้รางวัลไม่มีผลต่อการให้ความคิดเห็น แต่จะทำให้คุณภาพของคำตอบหรือการตอบสนองของเด็ก และการคิดที่แตกต่างไปจากแนวคิดที่มีอยู่ลดลง ความสามารถในการคิดเชื่อมโยงจากแนวทางหนึ่งไปยังอีกแนวทางหนึ่งจะลดลง เพราะเด็กอยากได้รับการชมเชยจึงคิดและเลือกที่จะตอบในเฉพาะแนวทางที่จะได้รางวัลเท่านั้น ดั้งนั้นการมีความต้องการด้วยตนเองที่จะคิดสร้างสรรค์ย่อมดีกว่าและควรได้รับการส่งเสริมมากกว่า ถ้าพวกกิจกรรมต่างๆที่เด็กได้ลงมือกระทำ สำรวจ สืบค้น ทดลองนั้น มีความหมายและเกี่ยวข้องกับประสบการณ์เดิมของเด็กกับชีวิตประจำวันของเด็ก โอกาสที่จะช่วยให้เด็กได้เห็นและเรียนรู้ในสิ่งที่เกี่ยวพันกันระหว่างสิ่งต่างๆและวิชาต่างๆ หลายวิชาในหลักสูตรจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก การเรียนรู้แบบดังกล่าวจะช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่หลากหลาย มีความคิดริเริ่ม และเรียนรู้อย่างเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

การสำรวจ สืบค้น อย่างลึกซึ้งและไปได้เนิ่นนานกับงานที่เป็นลักษณะเปิดกว้าง ไม่จำกัดคำตอบที่ถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมให้เด็กอยากเรียนรู้ และช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้ดี ผู้ใหญ่ควรทำตนเป็นเสมือนผู้ให้การสนับสนุนตามความคิดของเด็ก เป็นผู้ตั้งคำถามปลายเปิด เป็นผู้ช่วยนำทางและทำงานเป็นสมาชิกของกลุ่มเด็กๆในการสำรวจสืบค้น ผู้ใหญ่สามารถรับรู้ได้ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ในการตอบสนองความคิดของเด็กๆ ในการรู้ว่าควรจะส่งเสริมสนับสนุนเด็กๆให้ทำสิ่งที่ท้าทายหรือเสี่ยงต่อความผิดพลาดเมื่อใด และจะไม่เข้าไปรบกวนเด็กๆเมื่อใดโดยการรับฟังเด็กๆอย่างตั้งใจและสังเกตอย่างละเอียด ผู้ใหญ่ควรจะตระหนักว่าจังหวะในการส่งเสริมและวิธีการส่งเสริมจะต้องเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และพัฒนาการ ความสามารถของเด็กแต่ละคนเสมอ ดังนั้นความเอาใจใส่ของครูและผู้ปกครองจะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กไทยของเราได้เป็นอย่างดี